เส้นทางสานฝัน และวิธีเตรียมตัวสอบนายร้อยตำรวจ

1055
โรงเรียนนายร้อยตำรวจ

เชื่อว่าอาชีพที่น้อง ๆ ส่วนใหญ่ให้ความสนใจและเป็นอาชีพในฝันของใครหลายคน ก็คือการมีโอกาสการสอบเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ เพื่อรับราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะนอกจากเป็นอาชีพที่ทุกคนเชื่อว่ามีความมั่นคง และมีสวัสดิการเอื้อประโยชน์ให้กับพ่อแม่ได้แล้ว ยังเป็นอาชีพที่ทำให้พ่อแม่พี่น้องภาคภูมิใจอีกด้วย สำหรับน้อง ๆ หรือบุคคลทั่วไปที่สนใจสอบนายร้อยตำรวจ วันนี้ Nine100.com มี 5 เส้นทางสานฝัน และวิธีเตรียมตัวสอบนายร้อยตำรวจ มาแนะนำ

รู้จักโรงเรียนนายร้อยตำรวจ

การสมัครสอบเป็นข้าราชการตำรวจ โดยเฉพาะเส้นทางสู่นายร้อยตำรวจมีหลายเส้นทาง แต่ก่อนที่จะก้าวสู่เส้นทางนั้น ๆ เพื่อสานฝันให้กับตัวเอง เรามาทำความรู้จักโรงเรียนนายร้อยตำรวจกันก่อน โรงเรียนนายร้อยตำรวจ (Royal Police Cadet Academy : RPCA) เป็นหน่วยงานระดับกองบัญชาการ สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ตั้งอยู่ที่ ตั้งอยู่ที่ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม

1. ภารกิจหลักของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ

  • โรงเรียนนายร้อยตำรวจ มีภารกิจหลักในการให้การศึกษาอบรมด้านวิชาการ แก่นักเรียนนายร้อยตำรวจให้มีคุณลักษณะเหมาะสมที่จะเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร
  • ภารกิจ ด้านการฝึกอบรมแก่ผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรอื่น และฝึกอบรมนักเรียนนายร้อยตำรวจเพื่อมุ่งสู่ความเป็นวิชาชีพตำรวจ
  • ผลิตบุคลากรในวิชาชีพตำรวจ ตามความต้องการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  • ปลูกฝังคุณธรรม และจรรยาบรรณในวิชาชีพผู้บังคับกฎหมาย
  • สร้างองค์ความรู้และงานวิจัย ด้านวิชาชีพตำรวจและบังคับใช้กฎหมาย

2. โครงสร้างส่วนราชการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ

โรงเรียนนายร้อยตำรวจ เป็นส่วนราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โครงสร้างหน้าที่และภารกิจ แบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายปกครองและการฝึก ฝ่ายวิชาการ และมีหน่วยงานขึ้นตรงต่อโรงเรียนนายร้อยตำรวจอีกจำนวนหนึ่ง

2.1 ฝ่ายบริหาร รับผิดชอบด้านการบริหารงานทั่วไป ได้แก่ การสรรหาและคัดเลือก การบริหารงานบุคคล การคลัง แผนและงบประมาณ นิติการ ยานพาหนะ อาคาร และสถานที่ พิพิธภัณฑ์ โภชนาการ และการแพทย์

2.2 ฝ่ายปกครองและการฝึก รับผิดชอบด้านการปกครองบังคับบัญชา ให้คำปรึกษาแนะนำ สนับสนุนงานกิจกรรมต่าง ๆ ของนักเรียนนายร้อยตำรวจ

2.3 ฝ่ายวิชาการ รับผิดชอบด้านการให้ความรู้ทางวิชาการต่าง ๆ เช่น การเรียนการสอน การวิจัย การฝึกอบรม และการให้บริการทางวิชาการแก่สังคม

3. คำขวัญของนักเรียนนายร้อยตำรวจ

คำขวัญของนักเรียนนายร้อยตำรวจ จะแบ่งคำขวัญประจำชั้นปี เพื่อเป็นกุศโลบายและแนวทางในการอบรมปลูกฝังให้นักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) มีคุณสมบัติพื้นฐานของผู้ที่จะเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรและกำลังจะสำเร็จการศึกษาออกไปเป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยตำรวจทั่วประเทศ ซึ่งจะฝึกให้ นักเรียนนายร้อยตำรวจ รู้จักความเป็น “ผู้ใต้บังคับบัญชา”ที่ดีในชั้นปีที่ 1-2 และเป็น “ผู้บังคับบัญชา” ที่ดีในชั้นปีที่ 3-4 คำขวัญดังกล่าวมักจะถูกเรียกให้คล้องจองคือ “เกียรติศักดิ์ รักษ์วินัย วิจัยกรณี ขันตีอุตสาหะ” ซึ่งความหมายแต่ละชั้นปี มีดังนี้

  • นักเรียนนายร้อย ชั้นปีที่ 1 คำขวัญคือ “ขันตีอุตสาหะ” หมายความว่า ให้ นรต.ชั้นปีที่ 1 ต้องมีขันติ คือความอดทน และอุตสาหะ คือพากเพียรรับการฝึกหนัก ต้องมุมานะอดทนในการเปลี่ยนชีวิตจากคนธรรมดาให้เป็นผู้ที่รับการฝึก
  • นักเรียนนายร้อย ชั้นปีที่ 2 คำขวัญคือ “วิจัยกรณี” หมายความว่า จะต้องแยกแยะวิจัยกรณีต่าง ๆ เพื่อก้าวไปสู่ความก้าวหน้าในขั้นต่อ ๆไป
  • นักเรียนนายร้อย ชั้นปีที่ 3 คำขวัญคือ “รักษ์วินัย” หมายความว่า จะต้องรักษาระเบียบวินัยและขนบธรรมเนียมอันดีงามต่าง ๆ
  • นักเรียนนายร้อย ชั้นปีที่ 4 คำขวัญคือ “เกียรติศักดิ์” หมายความว่า จะต้องเป็นผู้ที่มีเกียรติยศศักดิ์ศรี รักษาเกียรติของตำรวจและสถาบันให้ดีที่สุด

4. สีประจำชั้นปี นักเรียนนายร้อย

สีประจำชั้นปีของนักเรียนนายร้อย จะถูกใช้เป็นสีประจำกองร้อย และเป็นสีหมวก ซึ่งการเลื่อนชั้นการศึกษาของ นรต.นั้นจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้มีพิธีประดับเลขชั้นปีและเปลี่ยนหมวกสีแล้ว ซึ่งจะกระทำในวันรุ่งขึ้นหลังจากมีพิธีวิ่งรับหมวก (Long March) ในวันเริ่มต้นเปิดภาคการศึกษา และสีประจำชั้นปีมีดังนี้

  • ชั้นปีที่ 1 “สีฟ้า” หมายความว่า ให้เป็นคนที่เปิดกว้างเหมือนท้องฟ้า  เพื่อรับการฝึกการอบรมต่าง ๆ ต้องเป็นคนเปิดกว้างทั้งจิตใจและสติปัญญา
  • ชั้นปีที่ 2 “สีเหลือง” เป็นสีของการศึกษา หมายความว่า ให้มีความตั้งใจศึกษาทุก ๆด้านที่ โรงเรียนนายร้อยตำรวจให้การฝึกศึกษาแก่ นรต.
  • ชั้นปีที่ 3 “สีม่วง” เป็นสีที่เกิดจากการผสมระหว่างสีแดงเลือดหมูกับสีดำ อันเป็นสีของตำรวจหมายความว่า จะต้องมีความพร้อมที่จะเป็นตำรวจอย่างเต็มตัว
  • ชั้นปีที่ 4 “สีเขียว” เป็นสีที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์เต็มที่ ถ้าเป็นต้นไม้ก็คือต้นไม้ใหญ่ แผ่กิ่งก้านสาขา  เป็นที่พึ่ง ให้ร่มเงาแก่สรรพสัตว์และมนุษย์ได้

หลักสูตรนักเรียนนายร้อยตำรวจ

หลักสูตรประจำของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ คือ “หลักสูตรนักเรียนนายร้อยตำรวจ” เป็นหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี ทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์ (การตำรวจ) มุ่งเน้นการศึกษาอบรมให้นักเรียนนายร้อยตำรวจมีวิชาความรู้และการอบรมหล่อมหลอมคุณลักษณะอันดีใน 3 ด้าน คือ

  1. มีความรู้ทางวิชาการพื้นฐานของระดับปริญญาตรี
  2. มีความรู้ทางวิชาชีพ ที่เป็นความรู้เฉพาะในด้านตำรวจ
  3. มีบุคลิกลักษณะและมีภาวะความเป็นผู้นำตำรวจ มีคุณลักษณะทางร่างกายและจิตใจที่เหมาะสม จะเป็นนายตำรวจสัญญาบัตร และมีคุณธรรมจริยธรรม

เส้นทางสานฝันสู่นายร้อยตำรวจ

            ความเข้าใจของคนทั่วไปรวมทั้งน้อง ๆ ที่กำลังศึกษาอยู่อาจเข้าใจผิดและคิดว่าการรับราชการเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรจะต้องเรียนสายวิทย์-คณิตและจบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหาร เหล่าตำรวจ เท่านั้น ซึ่งเป็นการเข้าใจที่ผิด เนื่องเส้นทางสู่นายร้อยตำรวจมี 2 ประเภทได้แก่ นักเรียนที่จบจากการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหาร เหล่าตำรวจ (สมัครผ่านโรงเรียนนายร้อยตำรวจ) และประเภทบุคคลภายนอก โดยในแต่ละประเภทมีคุณสมบัติของผู้สมัครและเส้นทางสู่นายร้อยตำรวจแตกต่างกันดังนี้

  1. เส้นทางสายตรงสู่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ

เส้นทางสายตรงสู่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ เปิดโอกาสให้น้อง ๆ ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมปลาย (ม.4-ม.5) และจะต้องเรียนสายวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ เท่านั้น ก็มีโอกาสใช้เส้นทางสายนี้มุ่งตรงสู่โรงเรียนนายร้อยตำรวจได้ โดยจะต้องมีคุณสมบัติและปฏิบัติตามขั้นตอน ดังนี้

  • สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 (ม.4) หลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการหรือเทียบเท่า ต้องเรียนสายวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ เท่านั้น
  • อายุ ไม่ต่ำกว่า 16 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์ ในปีที่จะเข้ารับการศึกษาการนับอายุให้นับตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร-ตำรวจ
  • สัญชาติไทยโดยกำเนิด และบิดามารดา มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด แต่ถ้าบิดาเป็นนายทหาร สัญญาบัตร นายตำรวจสัญญาบัตร หรือนายทหารประทวน นายตำรวจประทวน ซึ่งมีสัญชาติไทยโดยกำเนิดแล้ว มารดาจะมิใช่เป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยกำเนิดก็ได้
  • มีอวัยวะรูปร่างลักษณะท่าทาง ขนาดของร่างกายเหมาะสมแก่การเป็นทหารหรือตำรวจ ไม่เป็นโรคตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงออกตามความในกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร กฎกระทรวงออกตามความในกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการตำรวจ ตามที่กองบัญชาการกองทัพไทยกำหนดรายละเอียดไว้ในผนวกท้ายระเบียบ
  • ไม่เป็นผู้เคยต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาคดีถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
  • ไม่เป็นผู้ที่เคยถูกให้ออกจากโรงเรียนเพราะความผิด หรือถูกถอนทะเบียนจากความเป็นนักเรียนเตรียมทหาร
  • บิดา มารดา และผู้ปกครอง เป็นผู้มีอาชีพอันชอบธรรมหรือมีหลักฐาน
  • ต้องไม่มีพันธกรณีผูกพันกับองค์กรของรัฐบาลหรือเอกชน อันจะเป็นอุปสรรคต่อการศึกษา เมื่อสอบผ่านต้องเข้าเรียนเตรียมทหาร 2 ปี และต่อด้วยโรงเรียนนายร้อยตำรวจอีก 4 ปี ตามหลักสูตรที่กำหนด เมื่อจบมาได้ติดดาวพระราชทานยศ ร้อยตำรวจตรี (ร.ต.ต.) และรับพระราชทานกระบี่

สำหรับเส้นทางสายตรงสู่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ เมื่อสอบผ่านแล้วต้องเข้าเรียนเตรียมทหาร 2 ปี จากนั้นะจะต้องศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจอีก 4 ปี (เหล่าตำรวจ) ตามหลักสูตรที่กำหนด เมื่อเรียนจบ 4 ปี จะได้รับการแต่งตั้งยศเป็นร้อยตำรวจตรี (ร.ต.ต.) และรับพระราชทานกระบี่

  1. นายร้อยตำรวจ ประเภทบุคคลภายนอก

สำหรับ เส้นทางของบุคคลภายนอกที่จะก้าวสู่เส้นทางนายร้อยตำรวจ หรือรับราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้น ในแต่ละปีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะทำการเปิดรับสมัครบุคคลที่มีวุฒิปริญญาตรีในสาขาวิชาต่าง ๆ เพื่อสอบบรรจุเป็นนายร้อยตำรวจในตำแหน่งต่าง ๆ เป็นประจำทุกปี ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นของทุกตำแหน่งเปิดสอบ (อาจแตกต่างกันไปในแต่ละปี) เช่น

  • เปิดรับสมัครผู้ที่เรียนจบระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สายวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ อายุไม่เกิน 18 ปี สอบเข้าเรียนในโรงเรียนนายร้อยได้ เส้นนี้จะไม่ได้เรียน 2 ปีจากเตรียมทหาร
  • เปิดรับสมัครบุคคลภายนอก เพศหญิงหรือเพศชาย (คุณสมบัติตามที่ประกาศ) วุฒิ ป.ตรี สาขาต่าง ๆ ที่จะกำหนดไว้อย่างชัดเจน (กรณีนี้หากวุฒิและสาขาไม่ตรงตามประกาศจะสมัครไม่ได้) อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 35 ปีบริบูรณ์ นับถึงวันปิดรับสมัคร เพศชาย สูงไม่น้อยกว่า 160 ซม. เพศหญิงสูงไม่น้อยกว่า 150 ซม.
  • เปิดรับสมัครบุคคลภายนอก เพศหญิงหรือเพศชาย (คุณสมบัติตามที่ประกาศ) วุฒิ ป.ตรี สาขาทางคอมพิวเตอร์ อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 35 ปีบริบูรณ์ นับถึงวันปิดรับสมัคร เพศชาย สูงไม่น้อยกว่า 160 ซม. เพศหญิงสูงไม่น้อยกว่า 150 ซม. เพื่อดำรงตำแหน่ง รอง สารวัตร กลุ่มงานเทคนิคหรือเจ้าหน้าที่ประมวลผล ประจำหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (อาจแจ้งภายหลังหรือระบุไว้ในประกาศสอบ)
  • เปิดรับสมัครบุคคลภายนอก เพศหญิงหรือเพศชาย (คุณสมบัติตามที่ประกาศ) วุฒิ ป.ตรี ทางวิจัยการศึกษา สถิติการศึกษา การวัดผลและประเมินผลการศึกษา พัฒนาหลักสูตร พัฒนการศึกษา บริหารการศึกษา เทคโนโลยีทางการศึกษา โสตทัศนศึกษา การวัดผลการศึกษา การอุดมศึกษา อุตสาหกรรมการศึกษา พัฒนศึกษาศาสตร์ หรือวิจัยและพัฒนาหลักสูตร อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 35 ปีบริบูรณ์ นับถึงวันปิดรับสมัคร เพศชาย สูงไม่น้อยกว่า 160 ซม. เพศหญิงสูงไม่น้อยกว่า 150 ซม.  เพื่อดำรงตำแหน่ง รอง สารวัตร กลุ่มงานอำนวยการและสนับสนุน ทำหน้าที่บริการการศึกษา สังกัดกองบัญชาการศึกษา
  • เปิดรับสมัครบุคคลภายนอก เพศหญิงหรือเพศชาย (คุณสมบัติตามที่ประกาศ) วุฒิ ป.ตรี ทางบัญชี หรือพาณิชยศาสตร์ อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 35 ปีบริบูรณ์ นับถึงวันปิดรับสมัคร เพศชาย สูงไม่น้อยกว่า 160 ซม. เพศหญิงสูงไม่น้อยกว่า 150 ซม. เพื่อดำรงตำแหน่ง รอง สารวัตร กลุ่มงานอำนวยการและสนับสนุน ทำหน้าที่ตรวจสอบภายใน สังกัด สำนักงานตรวจสอบภายใน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  • เปิดรับสมัครบุคคลภายนอก เพศหญิงหรือเพศชาย (คุณสมบัติตามที่ประกาศ) วุฒิ ป.ตรี ทางบัญชี หรือพาณิชยศาสตร์ อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 35 ปีบริบูรณ์ นับถึงวันปิดรับสมัคร เพศชาย สูงไม่น้อยกว่า 160 ซม. เพศหญิงสูงไม่น้อยกว่า 150 ซม. เพื่อดำรงตำแหน่ง รอง สารวัตร กลุ่มงานอำนวยการและสนับสนุน ปฏิบัติหน้าที่ด้านบัญชี สังกัด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ในส่วนของการเปิดสอบนายร้อยตำรวจประเภทบุคคลภายนอก การเปิดรับแต่ละตำแหน่งอาจแตกต่างกันไปในแต่ละปี แต่โดยหลัก ๆ คุณสมบัติของผู้สมัครที่สำนักงานตำรวจเปิดรับจะแตกต่างกันที่วุฒิการศึกษาและสาขาวิชาที่จะเปิดรับให้เหมาะสมกับตำแหน่งงานเท่านั้น

วิธีเตรียมตัวสอบนายร้อยตำรวจ

            การเตรียมตัวสอบนายร้อยตำรวจทั้ง 2 ประเภท ได้แก่ เส้นทางสายตรงสู่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ และ นายร้อยตำรวจประเภทบุคคลภายนอก ภาพรวมในการเตรียมตัวสอบมีความยากและมีขั้นตอนในการเตรียมตัวสอบไม่แตกต่างกันมากนัก และนอกจากเรื่องการจัดเตรียมเอกสาร เตรียมวุฒิการศึกษาให้พร้อม  ศึกษาและตรวจสอบคุณสมบัติในแต่ละด้านของตนเองที่มีข้อสงสัยให้กระจ่าง เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาหรือเสียโอกาสในการสมัครสอบ การสอบนายร้อยตำรวจมีวิธีเตรียมตัวที่ดี ดังนี้

  1. มีเป้าหมายที่ชัดเจน วิธีแรกเริ่มจากการมีเป้าหมายที่ชัดเจนก่อน การมีเป้าหมายที่ชัดเจน หมายถึงรู้ความต้องการของตัวเอง เช่น คุณสมบัติพร้อมสำหรับการสอบเป็นนักเรียนเตรียมทหาร 2 ปี ก่อนเลือกเหล่า เมื่อต้องการเลือกเหล่าตำรวจ นอกจากเตรียมความรู้ในสายวิทย์ – คณิต แล้ว ความรู้รอบตัวเกี่ยวกับโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และงานในวิชาชีพ ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเรียนรู้ หรือกรณีเป็นบุคลภายนอกที่สมัครสอบตามประกาศของสำนักงานตำรวจ ต้องศึกษาให้รู้ว่าคุณสมบัติของตนเองสามารถสอบหน่วยงานใดได้บ้างและมีการเปิดรับอยู่เสมอ เพื่อเตรียมความพร้อมของตนเองในทุก ๆ ด้าน
  2. เตรียมตัวล่วงหน้าอย่าน้อย 1 ปี วิธีเตรียมตัวสอบทั้งสายตรงคือการสอบข้าเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ และบุคคลภายนอกที่สมัครสอบนายร้อยตำรวจตามประกาศของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การเตรียมความพร้อมที่ดีควรใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี เป็นการเตรียมความพร้อมทั้งร่างกายและความรู้ทางวิชาการ โดยทำไปพร้อม ๆ กันอย่างสม่ำเสมอ เช่น ออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน กำหนดระยะเวลาออกกำลังกายอย่างเหมาะสม อ่านหนังสือต่อเนื่องทบทวนความรู้อย่างสม่ำเสมอ
  3. บริหารเวลาใช้ชีวิตอย่างเป็นระบบ เพราะการสอบนายร้อยตำรวจทั้ง 2 ประเภท (สายตรงจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจและประกาศรับจากบุคคลภายนอก) ทุกคนรู้ดีว่ายากแล้ว การอยู่ในตำแหน่งหน้าที่นั้นยากยิ่งกว่า เพราะเป็นผู้รักษากฎหมายที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ การบริหารเวลาจัดแบ่งเวลาในการอ่านหนังสือ การทำงาน หรือออกกำลังกาย ใช้ชีวิตอย่างเป็นระบบ ช่วยให้มีวินัยในตัวเอง เมื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิตมีระบบ ก็จะเคยเป็นนิสัยคิดทำสิ่งใดก็จะมีการวางแผนล่วงหน้า โอกาสประสบความสำเร็จก็เป็นไปได้ไม่ยาก
  4. โดดเด่นสิ่งใดทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด เมื่อมุ่งมั่นที่จะสอบนักเรียนนายร้อยหรือต้องการรับราชการตำแหน่งนายร้อยตำรวจ ทุกคนจะให้ความสำคัญกับวิชาความรู้ที่ใช้สอบรวมถึงการเตรียมความพร้อมด้านร่างกายเป็นสำคัญ แต่หลายเส้นทางสู่นายร้อยตำรวจทักษะความรู้ที่โดดเด่นหรือเป็นความสามารถเฉพาะตัว มีโอกาสสานฝันให้ใคร ๆ หลายคนประสบความสำเร็จมาแล้ว เช่น เป็นนักกีฬาประเภทใดประเภทหนึ่ง มีความสามารถด้านดนตรีสาขาใดสาขาหนึ่ง เป็นต้น
  5. ทำข้อสอบหรือแบบทดสอบสม่ำเสมอ วิธีทีได้ผลดีและสร้างความมั่นใจให้กับน้อง ๆ หรือผู้ที่สนใจสมัครสอบนายร้อยตำรวจ ก็คือ การอ่านหนังสือหรือเตรียมตัวสอบด้วยการอ่านหนังสือและทำแบบทดสอบอย่างเต็มที่จนมีความมั่นใจ เมื่อถึงเวลาสอบทำให้ไม่ตื่นเต้น ใช้เวลาทำข้อสอบอย่างคุ้มค่า สิ่งสำคัญคือต้องซื้อหนังสือและแบบทดสอบมาฝึกทำอย่างสม่ำเสมอ หรือศึกษาแนวข้อสอบจากสื่อต่าง ๆ ควรเตรียมตัวตั้งแต่ยังไม่มีประกาศเปิดรับสมัคร
  6. ติวสอบหรือเรียนกวดวิชาเพื่อสอบนายร้อยตำรวจ วิธีนี้ถือเป็นทางลัดของน้อง ๆ และบุคคลทั่วไป เนื่องจากสถาบันติวสอบส่วนใหญ่มีบุคลากรที่มีความรู้มีประสบการณ์เรียนจบในแต่ละเหล่าทัพหรือจบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจโดยตรง ทำให้มีประสบการณ์ตรงและสามารถถ่ายทอดความรู้ทั้งทางวิชาการและแนวทางการเตรียมความพร้อมด้านร่างกาย รวมทั้งความพร้อมในระเบียบวินัยต่าง ๆ
  7. ซื้อคอร์ส ติวสอบออนไลน์ คอร์สติวสอบนายร้อยตำรวจระบบออนไลน์ มีข้อดีก็คือช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง การเรียนผ่านระบบออนไลน์ยังสามารถเลือกเวลาได้ตามต้องการ เหมาะสำหรับนักเรียนและบุคคลภายนอกที่มีงานประจำอยู่แล้ว แต่ต้องการสอบนายร้อยตำรวจประเภทบุคคลภายนอกที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเปิดรับ คอร์สติวสอบออนไลน์ยังสามารถเรียนซ้ำเพื่อทบทวนทำความเข้าใจได้หลายครั้ง

การจะเป็นนายร้อยตำรวจหรือรับราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แม้จะมีอยู่เพียง 2 ประเภท ได้แก่การสอบสายตรงเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ โดยจะต้องเรียนสายวิทย์-คณิต ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันดีว่าเป็นวิชาที่ยากและต้องมีผลการเรียนดี และอีกหนึ่งประเภท ได้แก่การรับสมัครจากบุคคลภายนอก ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะเปิดสอบเพื่อให้ได้บุคลากรตามความจำเป็นหรือตามที่หน่วยงานต่าง ๆ ต้องการ สำหรับน้อง ๆ หรือบุคคลที่สนใจเดินสู่เส้นทางนายร้อยตำรวจแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จในการสอบ หรือขาดคุณสมบัติใน 2 ประเภทแรก โอกาสเดินสู่เส้นทางนายร้อยตำรวจก็ยังมีอีกมากมาย เพียงติดตามเรา Nine100.com เว็บไซต์ที่พร้อมแบ่งปันความรู้ เพื่อสร้างสานฝันสู้เส้นทางนายร้อยตำรวจให้กับทุกคน